6 ชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ชงเองได้ไม่ต้องไปร้าน

6 ชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ชงเองได้ไม่ต้องไปร้าน

ฤดูฝน นอกจากจะต้องระมัดระวังโรคที่มากับสภาพอากาศเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ยังต้องป้องกันตัวเพิ่มจากโรคระบาดโควิดในระยะนี้อีกด้วย ซึ่งการดูแลตนเองแบบง่ายๆก็คือ กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อบำรุงร่างกาย เน้นผัก ผลไม้ ออกกำลังกายสร้างความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อ และยังสามารถนำสมุนไพรไทยมาต้มทำเป็นน้ำสมุนไพรดื่ม เสริมภูมิต้านทานได้อีกด้วย ในบทความนี้มีชาชงสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพมาฝากกัน 6 ชนิด ดังนี้

1. น้ำขิง

สมุนไพรรสเผ็ดร้อนที่อุดมด้วยวิตามินพร้อมแร่ธาตุ เต็มเปี่ยมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ลดอาการปวดศีรษะ  ปวดไมเกรน ครั่นเนื้อครั่นตัว ส่งเสริมการไหลเวียนของระบบเลือด บรรเทาอาการมือเท้าเย็น ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ขับลมในลำไส้ หากต้องการนำมาเป็นชาน้ำขิง แนะนำให้ใช้ขิงแก่ในการต้ม เพื่อให้ได้สรรพคุณทางยาที่เข้มข้นมากกว่าการใช้ขิงอ่อน

2. น้ำกระเจี๊ยบ

ดอกกระเจี๊ยบ สามารถนำมาต้มดื่มเป็นน้ำสมุนไพรหรือเป็นชาดอกกระเจี๊ยบ ใช้ดื่มบรรเทาอาการร้อนใน คอแห้ง อ่อนเพลีย อีกทั้งยังให้สรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ ลดความหนืดข้นของเลือด ทำให้ระดับความดันเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อุดมด้วยวิตามินซี ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคหวัด นอกจากนี้ในกระเจี๊ยบแดงยังอุดมไปด้วยสารแอนโทไซยานิน หรือสารต้านอนุมูลอิสระที่มากกว่าบลูเบอรี่ถึง 50 %

3. เตยหอม

ไม้ใบทรงพุ่มเล็ก มีกลิ่นหอม นิยมนำมาใช้ในการทำหรือตกแต่งสีของขนมให้น่ารับประทาน อีกทั้งกลิ่นที่ได้จากน้ำมันหอมระเหยจากใบเตยหอม มีสรรพคุณทางยาที่ดี เมื่อนำใบสดมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และนำไปตากแห้ง แล้วนำมาใช้ชงเป็นชาเตยหอมดื่ม มีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลียทำให้รู้สดชื่น ลดพิษไข้ ผ่อนคลายร่างกาย แก้เจ็บคอ ลดการอักเสบในลำคอ และยังช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะให้ทุเลาลงได้

4. ตะไคร้

พืชตระกูลหญ้าที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินเดีย นิยมนำมาใช้ทำอาหารและยารักษาโรค มีวิตามินและแร่ธาตุที่ดีต่อร่างกาย ใช้บรรเทาอาการไข้ เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ วิงเวียนศีรษะ ช่วยให้เจริญอาหาร ลดอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นหน้าอก

5. เก๊กฮวย

เบญจมาศสวนหรือเบญจมาศหนู เป็นอีกชื่อหนึ่งของเก๊กฮวย มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน มีทั้งดอกสีขาวและสีเหลือง ออกฤทธิ์เป็นยาเย็น นิยมใช้ชงเป็นน้ำเก๊กฮวยดื่มแก้กระหาย แก้ร้อนใน บำรุงโลหิต เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดการอักเสบ ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ บำรุงปอด บำรุงและดูแลดวงตา เมื่อนำมาชงดื่มแบบร้อน มีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืดจากอาหารไม่ย่อย อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้

6. ดอกคำฝอย

อีกหนึ่งสมุนไพรโบราณที่ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในปัจจุบัน มีสารต้านอนุมูลอิสระฟลาโวนอยด์และอัลคาลอยด์ที่มีส่วนช่วยในการดูแลหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันโรคหัวใจและเส้นเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ต้านการอักเสบ ลดอาการหวัด น้ำมูกไหล อีกทั้งยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ดังนั้นผู้ที่มีธาตุเบาควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม