โลจิสติกส์

โลจิสติกส์ (logistics) กับบทบาทสำคัญต่อการทำธุรกิจให้ยั่งยืน

การจัดการโลจิสติกส์ที่ดีและมีประสิทธิภาพย่อมส่งผลต่อผลกำไรของบริษัทโดยตรง ทุกวันนี้คำว่าโลจิสติกส์นับเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราอย่างแท้จริง ซึ่งมาในรูปแบบกิจกรรมที่เราทำกันเป็นประจำอย่างเช่น การสั่งอาหารเดลิเวอรี่หรือการซื้อของออนไลน์และแม้โลจิสติกส์จะมีบทบาทมากขึ้นแต่ก็ทำให้หลายคนสงสัยกับคำว่าโลจิสติกส์คืออะไร ทำไมถึงมีความสำคัญต่อการทำธุรกิจ

โลจิสติกส์คืออะไร

เป็นเรื่องของระบบการจัดส่งสินค้าทั้งลักษณะของข้อมูล ตัวสินค้าไปยังลูกค้าที่ต้องการโดยมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น การขนส่ง การจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการเกี่ยวกับหีบห่อ การจัดการเรื่องวัตถุดิบ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อลดต้นทุนเรื่องเวลา ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการขนส่ง เรื่องทั้งหมดต้องมีส่วนเกี่ยวกับการขนส่งเป็นหลักโดยรวมจึงเป็นเรื่องของโลจิสติกส์

กระบวนการของโลจิสติกส์

กระบวนการของโลจิสติกส์เป็นกระบวนการเชื่อมโยงระบบการจัดการและการขนส่งสินค้าจากต้นทางไปสู่ปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการเริ่มต้นที่ขั้นตอนในการจัดหาวัตถุดิบ (Raw Material) สินค้า (Goods) และบริการ (Services) การเคลื่อนย้ายจากต้นทาง (Source of Origin) ไปยังผู้บริโภคปลายทาง (Final Destination) ได้ทันเวลา และมีประสิทธิภาพโดยมีการสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์และการติดตั้งระบบซอฟท์แวร์ที่ทันสมัยเพื่อช่วยในการบริหารจัดการ

นอกจากนี้ความหมายของโลจิสติกส์ยังครอบคลุมถึงการขนส่งสินค้า การเก็บรักษาสินค้า การกระจายสินค้า กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและกระบวนการเกี่ยวกับการคาดคะเนของตลาดโดยมีเป้าหมายสำคัญคือ

  • ความรวดเร็วในการส่งมองสินค้า (Speed Delivery)
  • การไหลลื่นของสินค้า (Physical Flow)
  • การไหลลื่นของข้อมูลข่าวสาร (Information Flow)
  • การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added)
  • การลดต้นทุนการดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าและการดูแลขนส่งสินค้า

ความสำคัญของโลจิสติกส์

โลจิสติกส์ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการช่วยลดต้นทุนเพื่อสร้างกำไรทางธุรกิจได้มากขึ้น รวมถึงการนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการลูกค้า การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดจนเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตของธุรกิจ ทำให้เกิดความรวดเร็วและทรงประสิทธิภาพที่สุด

ประเภทของโลจิสติกส์

การจัดการโลจิสติกส์แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ตามลักษณะของบทบาทหน้าที่ได้ดังนี้

1. การจัดการโลจิสติกส์ด้านการทหาร (Military Logistics Management)

การจัดการโลจิสติกส์ด้านการทหาร หมายถึง การจัดการการจัดส่งกำลังบำรุงด้านการทหาร เช่น ยุทโธปกรณ์ ปัจจัยสี่ การรักษาพยาบาลและสารสนเทศเพื่อชัยชนะทางการทหารเป็นสิ่งสำคัญ

2. การจัดการโลจิสติกส์ด้านวิศวกรรม (Engineering Logistics Management)

การจัดการโลจิสติกส์ด้านวิศวกรรม หมายถึง การจัดการด้านการวิศวกรรมจัดส่งลำเรียง ได้แก่ การสร้าง การบูรณาการ และการบำรุงรักษาสาธารณูปการทั้งระบบการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศและทางท่อ ระบบการจัดเก็บและระบบสารสนเทศเพื่อมุ่งหวังความพร้อมในระบบการจัดเก็บและการจัดส่งลำเรียงทั้งระบบเป็นสิ่งสำคัญ

3. การจัดการโลจิสติกส์ด้านธุรกิจ (Business Logistics Management)

การจัดการโลจิสติกส์ด้านธุรกิจ หมายถึง การจัดการด้านการจัดเก็บและจัดส่งสินค้า คน สัตว์ สิ่งของจากจุดหนึ่งยังอีกจุดหนึ่งที่มนุษย์ต้องการเพื่อมุ่งหวังความสำเร็จทางธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ

กิจกรรมหลักในโลจิสติกส์ประกอบด้วย

  • งานบริการลูกค้า
  • การวางแผนเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของอาคารโรงงานหรือคลังสินค้า
  • การพยากรณ์และการวางแผนอุปสงค์
  • การจัดซื้อจัดหา
  • การจัดการสินค้าคงคลัง
  • การจัดการวัตถุดิบ
  • การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ
  • การบรรจุหีบห่อ
  • การดำเนินการกับคำสั่งซื้อ
  • การขนของและการจัดส่ง
  • โลจิสติกส์ย้อนกลับ
  • การจัดการกับช่องทางจัดจำหน่าย
  • การกระจายสินค้า
  • คลังสินค้าและการเก็บสินค้าเข้าคลัง
  • การจราจรและการขนส่ง
  • กจิกรรมการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
  • การรักษาความปลอดภัย

ประโยชน์ของระบบโลจิสติกส์

โลจิสติกส์เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตและสร้างความได้เปรียบจากคู่แข่งได้อย่างมหาศาลหากบริษัทไหนมีการจัดการระบบโลจิสติกส์ที่ดีจะสามารถลดต้นทุนได้และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการลูกค้า รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

1. ช่วยลดต้นทุนทำกำไรเพิ่ม

การจัดการโลจิสติกส์แบบเป็นระบบและมีประสิทธิภาพจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้บริษัทได้ในระยะยาว รวมถึงประโยชน์จากความคุ้มค่าในการขนส่งแต่ละครั้ง เช่น ถ้าเราจะให้การขนส่งคุ้มที่สุดต้องมีสินค้าที่จะขนส่งหลายชิ้นเพื่อให้ต้นทุนการขนส่งหนึ่งร้อยบาทเกิดความคุ้มค่า

2. เพิ่มประสิทธิผลในการบริการ

โลจิสติกส์สามารถอำนวยความสะดวกและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้เพราะโดยปกติเมื่อลูกค้าจะซื้อสินค้าชิ้นหนึ่ง อาจเสียเวลาออกไปเลือกหาสินค้าข้างนอกและรับสินค้ากลับด้วยตัวเองแต่การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าได้ผ่านหน้าร้านออนไลน์และแค่รอให้สินค้ามาส่ง

3. เป็นพื้นฐานให้ธุรกิจเติบโต

หากบริษัทหรือธุรกิจใดที่มีระบบขนส่งหรือโลจิสติกส์ที่ดีจะได้เปรียบคู่แข่งมากเนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มการสั่งสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและถ้าบริษัทต้องการขายสินค้าในโลกออนไลน์แล้ว แต่ระบบโลจิสติกส์ที่ดีคือพื้นฐานอย่างที่ขาดไม่ได้เลย

4. เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

โลจิสติกส์สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการได้เมื่อประสิทธิภาพการบริการเพิ่มขึ้น มูลค่าของสินค้าก็ย่อมเพิ่มขึ้นด้วยและแน่นอนลูกค้าบางคนก็พร้อมจ่ายเพิ่มสำหรับการบริการ

5. การสื่อสารที่รวดเร็ว

การเชื่อมต่อระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศกับระบบขนส่งโลจิสติกส์ทำให้ตอบสนองการขายได้อย่างรวดเร็วรวมถึงสามารถรักษาสินค้าคงคลังไว้ได้อย่างดี สุดท้ายนี้การบริหารระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมากทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิต การสร้างความพึงพอใจให้คู่ค้ารวมถึงการช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจที่ทุกบริษัทจะต้องคำนึงถึงในการทำธุรกิจก่อนเสมอ