กิจกรรม CSR

CSR (Corporate Social Responsibility) กิจกรรมเพื่อสังคม

กิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) เป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่ไม่ใช่แค่เพียงการสร้างผลกำไร แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวมทั้งชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม แนวคิดเรื่อง CSR จะช่วยให้บริษัทคำนึงถึงความรู้จักรับผิดชอบกับการกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมในมิติต่าง ๆ ทั้งบริษัท พนักงาน ลูกค้า คู่แข่ง ประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานองค์กรต่างๆ ในทางปฏิบัติคำว่า CSR อาจเรียกได้ว่าความเป็นพลเมืองที่ดีที่ต้องคำนึงผลกระทบในทุกด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

กิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) คืออะไร

กิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) หรือกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นแนวคิดในการดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กรที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรหรือทรัพยากรจากภายนอกองค์กรเพื่อทำให้สังคมอยู่อย่างมีความสุข

ความสำคัญของกิจกรรม CSR

กิจกรรม CSR มีความสำคัญต่อองค์กร เนื่องด้วยองค์กรไม่สามารถประกอบการได้หากมีมีสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย แรงจูงใจของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมคือการรักษาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้องค์กรสามารถทำงานได้ต่อในระยะยาวแม้จะเสียกำไรในระยะสั้น องค์กรส่วนมากอยากให้ความสำคัญเรื่องความรับผิดชอบทางสังคม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะองค์กรอยากทำดีด้วยตัวเอง ทำดีเพราะอยากกระตุ้นพนักงานหรือทำดีเพราะอยากให้ลูกค้าประทับใจ

กิจกรรม CSR มีกี่ระดับ

ระดับที่ 1 : Mandatory Level

ข้อกำหนดตามกฎหมาย หมายถึงการที่ธุรกิจมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฏหมายและกฏเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายแรงงาน เป็นต้น

ระดับที่ 2 : Elementary Level

ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หมายถึงการที่ธุรกิจคำนึงถึงความสามารถในการอยู่รอดและให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น กำไรที่ได้ต้องมิใช่กำไรที่เกิดจากการเบียดเบียนสังคม

ระดับที่ 3 : Preemptive Level

จรรยาบรรณทางธุรกิจ หมายถึงการที่ธุรกิจสามารถสร้างผลกำไรแก่ผู้ถือหุ้นได้ในอัตราที่เหมาะสมและผู้ประกอบธุรกิจได้ใส่ใจเพื่อให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สังคม

ระดับที่ 4 : Voluntary Level

ความสมัครใจ หมายถึงการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการปฏิบัติตามแนวทางของกิจกรรม CSR ด้วยความสมัครใจไม่ได้ถูกเรียกร้องจากสังคม

ธุรกิจต้องดำเนินการตามเกณฑ์ในระดับหนึ่งเป็นอย่างน้อย ส่วนการดำเนินการในระดับต่อไปให้ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละองค์กร หลักสำคัญของการปฏิบัติตามแนวทางกิจกรรม CSR ควรอยู่บนหลักพอประมาณที่ธุรกิจต้องไม่เบียดเบียนตนเองและต้องไม่เบียดเบียนสังคมด้วยเช่นกัน

ประเภทของกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility)

การทำกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) มีหลากหลายรูปแบบกิจกรรมเพราะไม่มีกฎตายตัวทำให้การสร้างสรรค์กิจกรรมออกมาได้หลายรูปแบบมาก สามารถคัดแยกแบ่งกลุ่มกิจกรรม CSR ไว้ได้ดังนี้

1. กิจกรรมเพื่อสังคม (CSR-after-process)

กิจกรรมเพื่อสังคม (CSR-after-process) คือการดำเนินกิจกรรมของหน่วนงานโดยมากเป็นองค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไรเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมในด้านต่าง ๆ โดยกิจกรรมที่ดำเนินการนั้น มักแยกต่างหากจากการดำเนินธุรกิจที่เป็นกระบวนการ หลักของกิจการและเกิดขึ้นภายหลัง เช่น การเป็นอาสาสมัครช่วยบำเพ็ญสาธารณประโยชน์หรือการแจกจ่ายสิ่งของช่วยบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

2. ธุรกิจเพื่อสังคม (CSR-in-process)

ธุรกิจเพื่อสังคม (CSR-in-process) คือการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ หรือเป็นการทำธุรกิจที่หากำไรอย่างมีความรับผิดชอบ เช่น การผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามข้อกำหนด การชดเชยความเสียหายให้แก่ลูกค้าที่เกิดจากความผิดพลาดและความบกพร่องของพนักงาน

3. กิจการเพื่อสังคม (CSR-as-process)

กิจการเพื่อสังคม (CSR-as-process) เป็นบทบาทขององค์กรธุรกิจโดยตรง กิจการจำพวกนี้มักเป็นองค์กรที่ดำเนินงานโดยไม่แสวงหากำไรให้แก่ตคนเองหรือเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อยังประโยชน์ให้แก่สังคมในทุกกระบวนการของกิจการ ได้แก่ มูลนิธิ เป็นต้น

CSR (Corporate Social Responsibility) แบ่งออกได้เป็น 7 ชนิดดังนี้

1. การส่งเสริมประเด็นสังคม (Cause Promotion)

การส่งเสริมประเด็นสังคม (Cause Promotion) คือองค์กรส่งเสริมประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมโดยการช่วยเหลือในด้าน เช่น การระดมทุน การจัดหาเงินทุน การส่งอาสาสมัครเพื่อทำกิจกรรม เป็นต้น

2. การตลาดเพื่อแก้ปัญหาสังคม (Corporate Social Marketing)

การตลาดเพื่อแก้ปัญหาสังคม (Corporate Social Marketing) คือการที่องค์กรรณรงค์หรือสนับสนุนให้เกิดการสร้างความตระหนักรู้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมในหลากหลายด้าน เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรจะสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการรณรงค์ เป็นต้น

3. การตลาดที่เกี่ยวโยงกับประเด็นสังคม (Cause-Related Marketing)

การตลาดที่เกี่ยวโยงกับประเด็นสังคม (Cause-Related Marketing) คือองค์กรบริจาครายได้ส่วนหนึ่งจากการขายสินค้าหรือบริการเพื่อนำไปสมทบทุนหรือบริจาคให้กับหน่วยงานการกุศลหรือมูลนิธิเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้ร่วมทำบุญกับมูลนิธิด้วยความสมัครใจ

4. การบริจาคเพื่อการกุศล (Corporate Philanthropy)

การบริจาคเพื่อการกุศล (Corporate Philanthropy) คือการบริจาคปัจจัยหรือสิ่งของเพื่อช่วยเหลือปัญหาสังคมส่วนใหญ่มาจากการร้องขอจากหน่วยงานที่ไม่ใช่การวางแผนในการทำโดยตัวองค์กรเอง

5. การประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Business Practices)

การประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Business Practices) คือการดำเนินธุรกิจที่หลีกเลี่ยงปัญหาโดยการพิจารณาตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้า การเลือกใช้วัตถุดิบรวมถึงยังหาวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ และการรณรงค์ให้คนในสังคมมีความรับผิดชอบต่อสังคม

6. การอาสาช่วยเหลือชุมชน (Community Volunteering)

การอาสาช่วยเหลือชุมชน (Community Volunteering) คือองค์กรจูงใจให้พนักงานสละเวลาในการทำงานเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมทางสังคมโดยองค์กรอาจทำกิจกรรมด้วยตัวเองหรือร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ

7. การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก (Developing and Delivering Affordable Products and Services)

การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก (Developing and Delivering Affordable Products and Services) คือการใช้กระบวนการทางธุรกิจในการผลิตและจำหน่ายสินค้า และบริการสู่ตลาดในราคาไม่แพง เหมาะกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับฐานรากให้เข้าถึงสินค้าและบริการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ตัวอย่างการทำกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility)

Coca-Cola แบรนด์น้ำดำอันดับหนึ่งให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมในการใช้รถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้าและปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่า 3.7 ล้านตัน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกทำการลงทุนครั้งใหญ่ทั้งระบบ Supply Chain ในการศึกษาการใช้พลังงานทางเลือกกับรถบรรทุก ๆ คันเพื่อลดปริมาณมลพิษ ด้วยความตั้งใจในการลดปริมาณคาร์บอนลง 25% ภายในปี 2020

การทำกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) ที่ประสบความสำเร็จจะทำให้คุณได้แสดงให้ผู้บริโภคและคนที่มีศักยภาพพอที่จะเข้ามาเป็นพนักงานได้เห็นว่าคุณใส่ใจที่จะทำความดีให้กับชุมชนส่งผลต่อผู้ถือหุ้นในแง่มูลค่าหุ้นที่สูงขึ้น ต่อพนักงานทำให้เกิดความสุขและความภูมิใจในการทำงานร่วมกับองค์กรก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวธุรกิจเป็นที่ยอมรับในสังคม

thechetter

นักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้