มอก. คืออะไร

มอก. มาตรฐานที่ผู้ประกอบการทุกคนควรรู้

เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มีความสำคัญต่อผู้ผลิตช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตหรือต่อผู้บริโภคช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งสินค้าที่มีตรา มอก. คือสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานที่กำหนดมีความปลอดภัยในการอุปโภค บริโภคมีประสิทธิภาพในการใช้งานและมีคุณภาพสมราคา

มาตรฐานสินค้าเป็นสิ่งที่ควรตระหนักกันอย่างจริงจังโดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัย ซึ่งในประเทศไทยมีหน่วยงานสำคัญอย่าง สมอ. ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงอยู่ผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมก่อให้การรับรองภายใต้ตราสัญลักษณ์ มอก. ซึ่งในความจริงไม่ใช่ทุกสินค้าที่มี มอก. แบบที่ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าทุกสินค้าที่ผลิตหรือนำเข้ามาขายในประเทศไทยมี มอก. เสมอไป

มอก. คืออะไร

มอก. เป็นคำย่อมาจาก “มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” หมายถึงข้อกำหนดทางวิชาการที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ผลิตในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพในระดับที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด สินค้าที่กำหนดเป็นมาตรฐานปัจจุบันครอบคลุมสินค้าที่ใช้อยู่ในประจำวันหลากหลายประเภทได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

โดยจัดทำออกเป็นเอกสารและจัดพิมพ์เป็นเล่มภายใน มอก. แต่ละเล่มประกอบด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่น เกณฑ์ทางเทคนิค คุณสมบัติที่สำคัญ ประสิทธิภาพของการนำไปใช้งาน คุณภาพของวัตถุที่นำมาผลิต และวิธีการทดสอบ เป็นต้น ข้อกำหนดที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางแก้ผู้ผลิตในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพจะต้องระบุอยู่บนตัวสินค้า มอก. ซึ่งมีส่วนประกอบดังนี้

  • โลโก้ มอก.
  • ลำดับที่ในการออกเลข มอก.
  • ปี พ.ศ. ที่ออกเลข

สมอ. กับ มอก. ต่างกันอย่างไร

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยงานราชการมีหน้าที่ตามกฏหมายให้ออกมาตรฐาน มอก. โดยการทดสอบทางวิทยาศาสตร์แก่ผลิตภัณฑ์ที่ขอรับมาตรฐานจากทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจึงกล่าวได้ว่า สมอ. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องมาตรฐาน มอก.

เครื่องหมาย มอก. มีความสำคัญอย่างไร

สำหรับ มอก. นั้นมีประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องในหลายด้านด้วยกัน ได้แก่

1. ประโยชน์ต่อผู้ผลิต

  • ช่วยลดรายจ่าย ลดเครื่องจักรและลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน
  • ช่วยทำให้สินค้ามีคุณภาพดีขึ้นและมีราคาถูกลง
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
  • ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการที่มีการกำหนดให้สินค้าต้องได้รับ มอก.
  • ช่วยทำให้ได้สินค้ามีคุณภาพสม่ำเสมอ

2. ประโยชน์ต่อผู้บริโภค

  • สร้างความปลอดภัยในการนำไปใช้
  • วิธีการบำรุงรักษาใกล้เคียงกันไม่ต้องหัดใช้สินค้าใหม่ทุกครั้งที่ซื้อ
  • ในกรณีสินค้าเกิดการชำรุด เสียหายและสามารถหาอะไหล่ได้ง่าย
  • สร้างความปลอดภัยในการนำไปใช้
  • ได้สินค้าคุณภาพดีขึ้นในราคาที่เป็นธรรมและคุ้มค่าต่อการใช้งาน

เครื่องหมาย มอก. มีกี่ประเภท

เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจสอบรับรอง สมอ. แล้วว่ามีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กำหนดมีความปลอดภัยในการอุปโภคบริโภค พร้อมมีประสิทธิภาพในการใช้งานและมีคุณภาพสมราคาซึ่งปัจจุบัน สมอ. ได้อนุญาตในแสดงเครื่องหมาย มอก. กับผลิตภัณฑ์ 5 เครื่องหมาย ดังต่อไปนี้

1. เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป

เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ สมอ. กำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นไว้ซึ่งผู้ผลิตสามารถยื่นขอการรับรองคุณภาพโดยสมัครใจเพื่อการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์กำหนดในมาตรฐานและหลักประกันให้กับผู้บริโภคหรือผู้ซื้อผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ มีความปลอดภัย คุ้มค่า และเหมาะสมกับราคา เช่น วัสดุก่อสร้าง วัสดุสำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น  

2. เครื่องหมายมาตรฐานบังคับ

เป็นเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐาน (มาตรฐานบังคับ) เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยส่วนรวม โดยกฎหมายบังคับผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายจะต้องผลิตนำเข้าและจำหน่ายแต่ผลิตภัณฑ์จะต้องมีเครื่องหมายมาตรฐานบังคับติดแสดงไว้ทุกหน่วยเพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้ผ่านการตรวจสอบ รับรองแล้วตามกฏหมาย เช่น ไม่ขีดไฟ สายไฟฟ้า ผงซักฟอก ท่อพีวีซี ถังดับเพลิง ของเล่นเด็ก หมวกกันน็อค เป็นต้น

3. เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

เป็นเครื่องหมายรับรองพลิตภัณฑ์ชุมชนที่แสดงบนสินค้าชุมชนหรือสินค้า OTOP เพื่อเป็นการยกระดับสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความน่าเชื่อถือว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานซึ่งผู้ผลิตสามารถยื่นขอได้ด้วยความสมัครใจ

4. เครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส

เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการ SMEs เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรับรองคุณภาพของสินค้าและบริการว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน

5. เครื่องหมายมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ

เป็นเครื่องหมายมาตรฐานรับรองระบบการบริหารงาน ไม่ใช่เครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ เช่น ระบบบริหารงานคุณภาพ ระบบห้องปฏิบัติการแนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยรับรองผลิตภัณฑ์ หน่วยรับรองบุคลากรและหน่วยตรวจสอบความใช้ได้ และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นขอการรับรองระบบการจัดการข้างต้นได้โดยสมัครใจ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับเครื่องหมาย มอก. มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจส่วนรวมหรือประโยชน์ร่วมกัน โดยเป็นสื่อกลางเป็นบรรทัดฐานทางการค้าทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีความเข้าใจตรงกัน ประหยัดการใช้ทรัพยากรของชาติทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงป้องกันสินค้าคุณภาพต่ำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ

thechetter

นักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้