รู้จักความดันโลหิตไว้ ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ

เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ย่อมตามมา โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีความเสื่อมหลอดเลือดและหัวใจต้องให้การดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมที่ส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารไขมันสูง การใช้ชีวิตประจำวันที่เคร่งเครียดและขาดการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งจะพบว่าไม่ได้มีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นโรคนี้ แต่พบภาวะความดันโลหิตสูงในเด็กวัยรุ่นมากขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญและห้ามมองข้าม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง

1. ความดันโลหิต คืออะไร

ความดันโลหิต เป็นความดันที่เกิดจากการไหลเวียนของผนังหลอดเลือดซึ่งจะเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ โดยจะเป็นค่าความดันโลหิตจากการวัดที่แขน ผลที่ได้มักแยกเป็นสองกรณีใหญ่คือ ความดันโลหิตสูง และความดันโลหิตต่ำ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการบีบตัวของหัวใจ ร่วมกับสภาพของหลอดเลือด รวมถึงปริมาณของเลือด

ค่าความดันโลหิตจะประกอบด้วยตัวเลขสองค่า ได้แก่ ค่าความดันโลหิตตัวบน ซึ่งเกิดจากความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจบีบตัวสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือด และค่าความดันโลหิตตัวล่างอันเกิดจากความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจพักคลายตัว โดยปกติแล้วความดันโลหิตที่อยู่ในเกณฑ์ปกติจะไม่เกิน120 มม.ปรอท และความดันโลหิตตัวล่างไม่ควรเกิน 80 มม.ปรอท

2. โรคความดันโลหิตสูง 

เป็นภาวะที่ตรวจพบว่าความดันโลหิตตัวบนสูงกว่า 140 มม.ปรอท และความดันโลหิตตัวล่างสูงกว่า 90 มม.ปรอท ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงมีทั้งชนิดที่ไม่สามารถหาสาเหตุอันแน่ชัดได้ และไม่มีอาการที่จำเพาะชัดเจน แต่สิ่งที่สำคัญคือหากมีความดันโลหิตในระดับที่สูงมาก มักมาพร้อมกับการปวดศีรษะรุนแรง โดยมักจะปวดบริเวณท้ายทอย

ความดันโลหิตสูงสามารถแบ่งออกเป็นสองชนิดด้วยกัน คือ

  • ชนิดไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

พบได้ร้อยละ 50 จากผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนใหญ่จะไม่สามารถทราบอาการและสาเหตุแน่ชัด และโดยทั่วไปแล้วมักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ

  • ชนิดมีสาเหตุที่ทางการแพทย์เก็บรวบรวมข้อมูลได้

พบได้ร้อยละ 50 จากคนไข้ทั้งหมดเช่นกัน โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ ภาวะไขมันอุดตันในหลอดเลือดและโรคอ้วน โรคเบาหวานที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ จึงทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น การเสื่อมสภาพตามวัย (วัยผู้สูงอายุจะพบมากขึ้นเรื่อย ๆ) ภาวะเคร่งเครียด พักผ่อนน้อยและขาดการออกกำลังกาย อันทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนไม่สมดุล ซึ่งมักพบร่วมกับการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ฯลฯ

การดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อความดันโลหิตสูง เมื่อพบว่าผู้ป่วยเป็นภาวะความดันโลหิตสูงให้ปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาในการควบคุมอาการ รับประทานยาตามแพทย์สั่งให้ครบสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาเอง ควบคู่กับการดูแลรักษาสุขภาพจิตให้เป็นคนมองโลกในแง่ดี ผ่อนคลาย และไม่เคร่งเครียดกับชีวิตมากเกินไป ปรับพฤติกรรมการรับประทาน และการออกกำลังกาย

ทั้งนี้ ยังมีอาหารที่ต้องหลีกเลี่ยง อาทิ ของหมัก ดอง หรืออาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง หากผู้ป่วยเคยดื่มแอลกอฮอล์มาอย่างต่อเนื่อง แนะนำให้หลีกเลี่ยงหรือควบคุมปริมาณแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่จำกัด พยายามรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ ลดการรับประทานหนังสัตว์ ไขมันหมู ฯลฯ

3. โรคความดันโลหิตต่ำ

ความดันโลหิตต่ำ มักมีสาเหตุมาจากภาวะขาดสารอาหารบางประเภท หรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น ผู้ป่วยบางรายขาดโปรตีน หรือผู้ป่วยบางคนขาดวิตามินซี ซึ่งเมื่อขาดวิตามินซีจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงไม่แข็งแรงเพียงพอ จึงเกิดการคลายตัวกว่าปกติ

จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่าผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตต่ำ สามารถเป็นได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ไม่ว่าอายุเท่าใดก็สามารถเป็นความดันโลหิตต่ำได้ อาการที่พบได้จากความดันโลหิตต่ำส่วนมากไม่มีอาการที่แน่ชัด แต่มักจะพบในผู้ป่วยบางคน เช่น เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย ฯลฯ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แล้วก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้เอง

การดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อความดันโลหิตต่ำ ให้พยายามนอนลงหรือนั่งพักทันที โดยยกเท้าสูงกว่าระดับของหัวใจ เพื่อช่วยให้ระบบเลือดไหลเวียนดีขึ้น หลีกเลี่ยงการนั่งหรือการยืนนาน ๆ นอกจากนี้ ในพฤติกรรมประจำวัน ผู้ที่เป็นความดันโลหิตต่ำควรใส่ใจพยายามพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการนอนดึกเพราะการที่เรานอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้ภาวะความดันโลหิตลดต่ำได้ง่าย รวมถึงควรหมั่นออกกำลังกายตอนเช้าทุกวันเพื่อกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจะมีผลบวกต่อการสูบฉีดไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้นตามไปด้วย

Photo by CDC on Unsplash

4. ค่าความดันโลหิตของผู้สูงอายุ

 ค่าความดันโลหิตของคนทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 120/80 มม.ปรอท ซึ่งในแต่ละช่วงวัยและอายุ จะมีค่าความดันตัวบนและตัวล่างที่แตกต่างกันไปบ้าง ในวัยผู้สูงอายุที่มีอายุเฉลี่ย 60 ปีขึ้นไป นับว่าเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงมาก ทั้งนี้ผู้สูงอายุไม่ควรมีค่าความดันโลหิตที่สูงมากว่า 160/90 มม.ปรอท เพราะเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดตีบ แตก ตัน ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกต์ อัมพาตได้

เมื่อพบว่าผู้สูงอายุค่าความดันโลหิตสูงเกินหรือต่ำเกินกว่าค่าเฉลี่ย บุตรหลานควรพาไปตรวจอย่างละเอียดและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุและให้แพทย์ดูแลรักษาต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องพยายามให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายตามวัย เช่น ว่ายน้ำ เล่นโยคะ เดินเร็ว ฯลฯ และดูแลให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดและไม่วิตกกังวล พยายามทำจิตใจให้สบายปล่อยวาง จะช่วยรักษาอาการภาวะความดันโลหิตได้ดีขึ้น            

ความดันโลหิตเป็นภัยใกล้ตัวอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ว่าใคร ๆ ก็สามารถมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้ เป็นโรคที่ไม่มีอาการชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้หลายคนละเลยและไม่ได้เข้ารับการรักษา ดังนั้น เราอยากให้ทุกท่านหันมาใส่ใจสุขภาพ ดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ ปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวัน หากมียาก็ควรรับประทานตามแพทย์สั่งและอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ถ้าหากมีอาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

thechetter

นักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้