อาการนอนกรน สาเหตุ และการรักษาอาการนอนกรน

อาการนอนกรน ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัว และอาการนอนกรนที่รุนแรง กรนเสียงดัง นอกจากรบกวนสร้างความรำคาญให้กับคนใกล้ตัวแล้ว ยังเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลังมีปัญหาสุขภาพ เนื่องจากการนอนกรนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอนกรนเกิดจากสาเหตุใด รักษาอาการนอนกรนมีวิธีใดบ้าง บทความนี้มีความรู้มาแนะนำ

อาการนอนกรน คืออะไร

อาการนอนกรน คือภาวะที่มีเสียงดังหรือเสียงผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างหายใจในขณะนอนหลับ และจะกรนดังมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย โดยเสียงกรนที่ดังระหว่างการหายใจเข้าขณะนอนหลับจะเกิดขั้นบริเวณลำคอหรือช่องทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งปกติการนอนกรนอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากมีอาการไม่รุนแรงการปรับเปลี่ยนท่านอนก็สามารถบรรเทาอาการกรนลงได้

สาเหตุของอาการนอนกรน

อาการนอนกรนเกิดจากการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจ จากการที่กล้ามเนื้อบริเวณคอและผนังลำคอหย่อนตัวขณะหลับ เมื่อระบบทางเดินหายใจแคบลงการหายใจผ่านบริเวณลำคอจึงทำให้เกิดเสียงกรนหรือนอนกรนขณะหลับ ปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญของอาการนอนกรน ได้แก่

  • ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ก็มีส่วนสัมพันธ์กับการนอนกรน
  • โรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เป็นปัจจัยที่พบได้มากในคนนอนกรน
  • ผู้ที่มีโรคประจำ หรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต และโรคภูมิแพ้
  • ผู้ที่รับประทานยาที่ส่งผลต่อการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อ
  • ผู้ที่มีโครงหน้าเล็ก ทำให้ท่อทางเดินหายใจเปิดแคบลง
  • ผู้ที่มีอาการทอนซิลโต ทำให้เนื้อเยื่อช่วงลำคอมีปริมาณมาก ส่งผลทำให้ทางเดินหายใจแคบลง
  • การมีอายุที่มากขึ้น ถือเป็นปัจจัยหนึ่งเนื่องจากกล้ามเนื้อจะหย่อนตัวได้ง่าย
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง หากดื่มก่อนนอนจะทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนคลายตัวมากขึ้น จนอุดกั้นระบบทางเดินหายใจส่วนบน

การนอนกรนอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

การนอนกรน มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน หากเป็นอาการนอนกรนธรรมดาที่เกิดจากความเหนื่อยล้า หรือเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ที่อาการไม่รุนแรงสามารถปรับพฤติกรรมการนอนเพื่อช่วยลดอาการนอนกรนได้ ส่วนภาวะการนอนกรนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพมีระดับความรุนแรง ดังนี้

ความรุนแรงระดับ 1

ความรุนแรงของอาการนอนกรน ในระดับนี้ยังไม่เป็นอันตรายร้ายแรง เสียงกรนไม่ดังและยังไม่ส่งผลต่อการหายใจในขณะนอนหลับ แต่เสียงกรนอาจรบกวนหรือสร้างความรำคาญให้กับคนใกล้ชิด ยังไม่ต้องอยู่ในขั้นรักษาอาการนอนกรน

ความรุนแรงระดับ 2

การนอนกรนในระดับนี้สังเกตได้จากนอนกรนบ่อย ๆ เสียงดัง และกรนติดต่อกันมากกว่า 3 สัปดาห์ ปัญหาที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพ ได้แก่ การนอนกรนทำให้หลับไม่สนิทหรือตื่นบ่อยในช่วงกลางคืน ส่งผลให้รู้สึกง่วงและเหนื่อยในเวลากลางวัน

ความรุนแรงระดับ 3

อาการนอนกรน ระดับ 3 การกรนจะมีความรุนแรง เสียงดัง และมีภาวะหยุดหายในขณะหลับ เนื่องจากทางเดินหายใจถูกปิดกั้นบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นเวลาประมาณ 10 วินาที ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอและเป็นปัญหาที่ส่งผลสุขภาพ ได้แก่ สมาธิและความจำลดลง ปวดศีรษะในตอนเช้า ง่วงมากในตอนกลางวัน

อาการนอนกรนที่ควรพบแพทย์

อาการนอนกรนที่อยู่ในระดับรุนแรงหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ จำเป็นต้องรักษาอาการนอนกรน เพราะอาจมีอาการแทรกซ้อนที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพและมีโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจวาย  หรือถ้าหากผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่แล้วจะยิ่งเพิ่มโอกาสเสียชีวิตขณะหลับได้

วิธีรักษาอาการนอนกรน

อาการนอนกรนมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน วิธีรักษาอาการนอนกรนก็จะแตกต่างกันไป เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลตนเองโดยไม่ต้องพบแพทย์  และการพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หากอยู่ในระยะแรกเพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลตนเองด้วยแนวทางต่อไปนี้ก็สามารถแก้การนอนกรนได้

  1. เมื่อรู้สึกตัวว่านอนกรน หรือมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการกรน เพียงปรับเปลี่ยนท่านอนก็ทำให้หายหรือกรนน้อยลงได้
  2. จัดเตรียมสถานที่ให้พร้อมสำหรับการนอน เช่น การทำความสะอาดเตียงนอน ชุดเครื่องนอนเพื่อเป็นการป้องกันไรฝุ่น ปรับหมอนหนุนนอนรองศีรษะให้สูงขึ้นประมาณ 4 นิ้ว เพื่อเป็นการช่วยลดอาการบวมของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนทำให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น
  3. ดูแลสุขภาพลดปัจจัยเสี่ยง เช่น ควบคุมน้ำหนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
  4. การพบแพทย์เพื่อรักษาอาการนอนกรน กรณีมีอาการกรนที่อยู่ในขั้นอันตราย เช่น มีอาการหยุดหายใจในขณะนอนหลับร่วมด้วย แพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการเพื่อทำการรักษาตามแนวทางดังต่อไปนี้
  5. ใช้อุปกรณ์ช่วยลดการนอนกรน เช่น แผ่นแปะจมูกแปะที่บริเวณปีกจมูกทั้งสองข้าง แผ่นแปะคาง แปะที่บริเวณใต้คางเพื่อป้องกันการอ้าปากในขณะนอนหลับ หรือเครื่องช่วยหายใจ CPAP ที่รักษาอาการนอนกรน
  6. รักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดกระชับเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และผนังคอ การผ่าตัดตกแต่งเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อนและลิ้นไก่โดยใช้เลเซอร์ การผ่าตัดเพดานอ่อน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้เนื้อเยื่อลดการสั่นของเพดานอ่อนในขณะนอนหลับ และการใช้ยาเพื่อรักษาต้นเหตุของอาการนอนกรน

อาการนอนกรน แม้จะเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่พบได้ทั้งเพศหญิงเพศชาย ผู้สูงวัยและเด็ก แต่จำเป็นจะต้องรู้ทันระดับความรุนแรงหรือรู้สาเหตุของการกรน เพื่อรักษาอาการนอนกรนได้อย่างถูกวิธีช่วยป้องกันาวะแทรกซ้อนและการหยุดหายใจขณะนอนหลับที่เป็นปัญหาร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

thechetter

นักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้