RFID คืออะไร
RFID นั้นถูกย่อมาจาก Radio Frequency Identification คือ รูปแบบหรือระบบการเก็บข้อมูลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยขยายความสามารถทั้งการคำนวณรวมถึงการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งส่งข้อมูลผ่านคลื่นแม่เหล็ก กล่าวคือเป็นการนำคลื่นวิทยุมาเป็นพาหะเพื่อใช้ในการสื่อสารข้อมูล
โดยเทคโนโลยี RFID นั้นอยู่กับเราโดยที่เราไม่รู้ตัว วัตถุประสงค์หลักของเทคโนโลยีนี้คือ การนำมาใช้ในการผสานหรือติดกับวัตถุต่างๆ เพื่อบ่งบอกเอกลักษณ์ของเจ้าของหรือบอกข้อมูลจากของชิ้นนั้น เทคโนโลยี RFID ที่อยู่ติดตัวเรากันตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัวมีมากมาย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน บัตรเข้าออกหอพัก คอนโดหรือสำนักงาน บัตร ATM และบัตรจอดรถ
โดยในปัจจุบันได้มีการพัฒนาศักยภาพของเทคโนโลยี RFID โดยเพิ่มความสามารถให้มีมากขึ้น เช่น การนำไปใช้งานกับบัตรเครดิตหรือบัตรสมาร์ทการ์ด ซึ่งทำให้นอกจากจะแค่รับส่งข้อมูลหมายแล้ว ก็ยังสามารถเชื่อมต่อทั้งในการอ่าน การเขียนข้อมูลที่มีปริมาณมากกว่าเดิมได้ เช่น นอกจากบัตรเครดิตจะบอกแค่ยอดเงินคงเหลือแล้วยังบอกคะแนนสะสม สถานะของผู้ถือบัตรรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ได้อีกด้วย
RFID Reader
RFID Reader เรียกอย่างง่ายๆ คือ เครื่องอ่านสัญญาณ RFID ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเชื่อมต่อกับสัญญาณ RFID ซึ่งประกอบด้วยเสาอากาศที่ทําจากขดลวดทองแดง เพื่อใช้รับส่งสัญญาณภาครับและภาคส่งสัญญาณวิทยุและวงจร โดยที่ตัว RFID Reader นั้นมีทั้งที่สามารถพกพาหรือติดตั้งอยู่กับที่ได้ โดยหลักการทำงานเครื่อง RFID Reader จะเป็นการใช้คลื่นวิทยุเพื่อส่งสัญญาณที่เปิดใช้งานแท็ก และเมื่อแท็กเปิดใช้งาน ก็จะส่งคลื่นกลับไปที่เสาอากาศและจะแปลเป็นข้อมูลให้เรารับรู้ RFID reader ที่เราอาจจะคุ้นเคยกันคือ เครื่องอ่านบัตรเครดิตตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหาร เครื่องอ่านบาร์โค้ด หรือเครื่องอ่านคีย์การ์ดเวลาเข้าหรือออกจากอาหาร
RFID tag
RFID Tag คือ เป็นระบบที่ใช้สำหรับการติดตามระบุข้อมูล โดยการใช้ชิพอัจฉริยะในการกำหนดตำแหน่งหรือบอกรายละเอียดข้อมูลผ่านทางไมโครชิพ โดยไมโครชิพทำหน้าที่เก็บข้อมูลต่างๆ เช่น บาร์โค้ดของสินค้า โดยทั่วไปตัวแท็กอาจอยู่ในชนิดทั้งเป็นกระดาษ แผ่นฟิล์ม พลาสติก และมีขนาดและรูปร่างต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่จะนำไปติดและมีหลายรูปแบบ เช่น ขนาดเท่ากับบัตรเครดิต เหรียญ กระดุม ฉลากสินค้า แคปซูล เป็นต้น ส่วนในเรื่องของโครงสร้างของ RFID Tag สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. Passive RFID Tag
Passive RFID Tag คือ แท็กที่ไม่ต้องอาศัยแหล่งจ่ายไฟภายนอก เพราะภายในแท็กมีวงจรกำเนิดไฟฟ้าเหนี่ยวนำขนาดเล็กอยู่ กล่าวอย่างง่ายๆ คือ ภายในแท็กมีแบตเตอรี่ภายในตัว ดังนั้นการอ่านข้อมูลได้ไม่ไกลนัก ส่วนใหญ่จะใช้ในระยะไม่เกิน 1 เมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับความแรงของเครื่องส่งและคลื่นความถี่วิทยุ ซึ่ง Passive RFID Tag จะเป็นหน่วยความจำขนาดเล็กขนาด 16 – 1,024 ไบร์ท
2. Active RFID Tag
Active RFID Tag คือ แท็กที่ต้องอาศัยแหล่งจ่ายไฟจากภายนอกเพื่อจ่ายพลังงานให้กับวงจรภายในแท็กทำงาน โดยเป็นลักษณะแท็กที่ไม่มีแบตเตอรี่ภายในตัว ซึ่งจะมีหน่วยความจำได้มากถึง 1 เมกะไบร์ท การอ่านข้อมูลสามารถทำได้ได้ไกลสูงสุดถึง 10 เมตร
RFID Tracking
RFID Tracking คือ การใช้เทคโนโลยี RFID ในการติดตามคน วัตถุ หรือสิ่งของที่เราต้องการติดตาม ซึ่งถูกนำมาใช้งานโดยบริษัทที่ทำธุรกิจที่จำเป็นต้องอาศัยสินทรัพย์ในการสร้างรายได้ โดย RFID tracking เป็นการให้ความสำคัญในการติดตามทรัพย์สินและการจัดการสินค้าในคลังที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นสต็อกสินค้า เครื่องมืออุปกรณ์ไอที ยานพาหนะ หรือแม้แต่พนักงานของบริษัทเอง
แม้ว่าในทุกวันนี้จะมีตัวเลือกมากมายที่ช่วยให้กระบวนการตรวจสอบและติดตามสินทรัพย์ทำได้ง่ายขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า RFID tracking เป็นเทคโนโลยีการติดตามที่มอบประสิทธิภาพที่คุ้มค่าที่สุด และแต่ละบริษัทนิยมใช้เป็นอย่างมาก
โดยการติดตามทรัพย์สิน RFID เป็นวิธีการในการจัดการและค้นหาข้อมูลของสินทรัพย์ ซึ่งทำงานผ่านการติดตั้งแท็ก RFID และแนบไปกับสินทรัพย์ที่ต้องการติดตาม เมื่อเรียกข้อมูลขึ้นมา ก็จะสามารถบอกรายละเอียดได้ตั้งแต่ชื่อ เงื่อนไขต่างๆ รวมถึงจำนวนและสถานที่
RFID Tracking มีความสามารถในการสร้างกระบวนการติดตามคน วัตถุ หรือสิ่งของแบบอัตโนมัติ โดยจุดมุ่งหมายของ rfid tracking คือเพื่อยุติการติดตามสินค้าต่างๆ โดยวิธีการเดิมๆ เช่น การใช้ปากกาจดบนกระดาษ และการใช้การคำนวณด้วย excel ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดข้อผิดพลาดสูง โดย RFID tracking ถูกบริษัทใหญ่ๆ นำมาใช้ในการติดตามรถ พนักงาน หรือเครื่องจักรมูลค่าสูง และมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
RFID card
RFID card หมายถึง รูปแบบของบัตรที่มีหน่วยความจุภายในตัว ซึ่งในปัจจุบัน บัตร RFID หรือที่เราเรียกกันว่าบัตรสมาร์การ์ด ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในระบบงานต่าง ๆ เนื่องจากสามารถช่วยให้งานสะดวกสบายและมีความปลอดภัยมากขึ้น เช่นบัตรเครดิต หรือคีย์การ์ดที่ใช้เข้าออกสำนักงาน โดยลักษณะการใช้งาน RFID Card จะแบ่งเป็น 3 คลื่นความถี่ที่มีวัตถุประสงค์ของการใช้งานแตกต่างกันไป ดังนี้
1. คลื่นความถี่ต่ำ
คลื่นความถี่ต่ำ หรือที่ที่เรียกกันว่า บัตร proximity เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้การสัมผัสในรูปแบบบัตรยุคแรก โดยเข้ามาแทนที่การยืนยันตัวตนแบบอัตโนมัติด้วยบัตรแถบแม่เหล็ก ซึ่งมีการคิดค้นมาตั้งแต่ช่วงก่อนยุค 90 แต่เนื่องจากการที่เป็นคลื่นความถี่ที่ต่ำ การส่งข้อมูลของบัตร proximity เป็นเพียงการส่งเพียงหมายเลขไปยังเครื่องอ่านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และไม่สามารถเขียนข้อมูลใดๆ เพิ่มเติมลงไปในหน่วยความจำได้ โดยไม่มีการประมวลผลและไม่มีการป้องกันความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล
2. คลื่นความถี่สูง
เป็นคลื่นความถี่ที่นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการยืนยันตัวตนผ่านบัตรประจำตัว และมีมาตรฐาน ISO เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยสร้างมาตรฐานการทำงานและการสื่อสารให้กับผู้ผลิต และผู้ใช้งานในท้องตลาด ซึ่งการใช้คลื่นความถี่สูงจะอยู่บนคลื่นความถี่ 13.56 MHz เป็นหลัก
3. คลื่นความถี่สูงมาก
เป็นคลื่นความถี่ที่นิยมใช้ในรูปแบบการสื่อสารระยะไกล เช่น การใช้งานกับการเปิดไม้กั้นรถยนต์ โดยระยะการอ่านนั้น จะขึ้นอยู่กับเครื่องอ่านบัตรแต่ละแบบ แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับเทคโนโลยีอื่น เช่น บลูทูธ หรือคลื่นสัญญาณไมโครเวฟ ซึ่งมีลักษณะการใช้งานใกล้เคียงกัน จึงอาจจะทำให้บัตร RFID ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก
ที่มา
- RFID (radio frequency identification)
- What is RFID and How Does RFID Work?
- Radio Frequency Identification Reader (RFID Reader)
- What Is RFID Asset Tracking & How Does It Work?