การที่องค์กรธุรกิจประสบความสำเร็จ แบรนด์สินค้าและตัวผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าและมียอดสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพของสินค้า และความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของแบรนด์นั้น ๆ แต่หากต้องการให้สินค้าของเราสามารถตอบโจทย์ความต้องการ หรือสามารถแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้ ก็จะเป็นการเพิ่มยอดขายหรือมีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัญหาของลูกค้าก็คือ Pain point
Pain point คืออะไร
คำว่า Pain point แยกความหมายของแต่ละประโยค Pain แปลว่า ความเจ็บปวด ส่วน point แปลว่า จุด เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันความหมายที่ได้ คือ จุดเจ็บปวด หากเป็นภาษาทางการตลาด ก็จะหมายถึง จุดอ่อนทางธุรกิจ หรือปัญหาที่ลูกค้ากำลังประสบอยู่นั่นเอง
Pain point สำคัญและส่งผลต่อธุรกิจได้อย่างไร
จากความหมาย Pain point ก็คือปัญหาของลูกค้าที่เกิดขึ้นจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ยุ่งยากหรือลำบากขึ้นและต้องการแก้ปัญหานั้น โดยการแก้ปัญหาด้วยการซื้อสินค้าหรือใช้บริการบางอย่างที่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้
สรุปความสำคัญของ Pain point ที่จะส่งผลต่อธุรกิจได้ก็คือ การค้นพบปัญหาของลูกค้าที่ต้องการแก้ไข และนำไปสู่การซื้อสินค้ามาเพื่อแก้ปัญหา ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดจึงจำเป็นต้องค้นหาปัญหาหรือ Pain point ของลูกค้าให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้ากำลังประสบอยู่ ต้องการแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อหาแนวทางนำเสนอการแก้ปัญหาให้กับลูกค้า
หน้าที่ของผู้ประกอบการในการค้นหา Pain point
- ปัญหาที่ลูกค้ากำลังประสบคืออะไร และอะไรทำให้เกิดปัญหา
- ผลลัพธ์ในการแก้ปัญหาควรออกมาอย่างไรหลังจากแก้ปัญหาแล้ว
- จะวางแนวทางแก้ไขปัญหาจาก Pain point ได้อย่างไร
Pain Point ขั้นพื้นฐานของลูกค้า ที่ผู้ประกอบการควรรู้
- กระบวนการผลิต ส่วนใหญ่ Pain Point มักอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น คุณภาพการผลิตที่ไม่ดี ความเร็วในการผลิตที่ช้า ปริมาณการผลิตที่น้อย ฯลฯ หรือเกี่ยวข้องกับต้นทุนการผลิตที่สูงเกินไป เป็นต้น หากค้นพบปัญหาเหล่านี้ได้ นักการตลาดหรือผู้ประกอบการ ก็จะสามารถมอบสินค้าและบริการที่แก้ปัญหาให้กับพวกเขาได้
- เกี่ยวกับการเงิน Pain point มักเป็นปัญหาเรื่องการควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน หรือต้องการผลกำไรที่มากขึ้น ส่วนใหญ่สินค้าและบริการที่ถูกสร้างมาเพื่อแก้ปัญหาทางการเงินให้กับลูกค้า เช่น ทำให้รวยขึ้น ทำให้ต้นทุนต่ำลง ทำให้มีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น
- เกี่ยวกับคนหรือบุคลากร Pain point เป็นปัญหาที่ทุกองค์กรมีโอกาสประสบ สินค้าที่เข้ามาช่วยให้ปัญหาของคนในองค์กรลดลง เช่น ระบบ CRM สำหรับวัดผลพนักงานขาย ระบบ HR Intranet เพื่อช่วยเรื่องการตอกบัตร หรือแม้กระทั่งการจ้างวิทยากรมาจัดอบรมภายในองค์กร ก็จะช่วยให้คนในองค์กรมีการพัฒนาตนเองที่ดีขึ้น
- เกี่ยวกับคู่แข่ง Pain point ของลูกค้าในข้อนี้เป็นปัจจัยภายนอกที่ลูกค้ามักควบคุมไม่ได้ การมาของคู่แข่งที่มีศักยภาพทางธุรกิจสูงกว่า หรือมีกลยุทธธุรกิจที่สร้างปัญหาปวดหัวให้กับลูกค้า เช่น ตัดราคา ดังนั้นธุรกิจที่ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันก็จะช่วยให้ลูกค้าสู้กับคู่แข่งของได้ดีขึ้น
ประโยชน์จากการทำ Pain point
- สามารถระบุปัญหาหรือจุดอ่อนขององค์กรได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว
- ช่วยให้เราสามารถดำเนินการสืบค้นหาสาเหตุของปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว
- เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน นำสู่ผลประกอบการและกำไรที่ดียิ่งขึ้น
- ช่วยให้ทีมงานหรือคนในสถานประกอบการของเรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ไม่ถูกกดดันเรื่องการทำยอด ไม่จำเป็นต้องทำงานนอกเวลาเกินความจำเป็น หรือไม่ต้องเสียเวลามากมายกับการประชุมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่สามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริง
- ทำให้องค์กรมีโอกาสได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ ซึ่งได้มาจากสินค้าที่เกิดปัญหา Pain point เมื่อสินค้าของเราสามารถแก้ไขปัญหาให้ได้ มีแนวโน้มสูงมากที่ลูกค้าจะกลับมาใช้สินค้าและบริการ ต่อเนื่อง
- ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ส่งผลต่อการขยายฐานลูกค้าในอนาคต
- มีผลต่อความร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้าอื่น เช่น ผู้ขนส่งสินค้า ตัวแทนทางการตลาด หรือผู้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ อีกด้วย
ตัวอย่าง Pain point
ตัวอย่างธุรกิจที่แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
ธุรกิจที่ให้ความสนใจกับปัญหาหรือจุดอ่อน และแก้ไขปัญหาจนประสบความสำเร็จ ได้แก่ บริษัทระดับโลกอย่าง Apple โดย สตีฟ จ็อบ เคยกล่าวไว้ว่า “คุณไม่ควรมองไปที่คู่แข่งแล้วบอกว่าคุณจะทำให้ดีกว่า แต่คุณควรมองไปที่คู่แข่งแล้วประกาศว่าจะสร้างความแตกต่าง” คำพูดนี้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของ Apple ว่า แก่นหลักของธุรกิจไม่ใช่เพียงคุณภาพของสินค้า ซึ่งในตอนนั้นคุณภาพของสินค้าของ Apple ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าคู่แข่ง แต่เราก็ได้เห็นว่าสิ่งที่ทำให้ Apple กลายมาเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน เพราะ Apple เลือกที่จะสร้างความแตกต่าง และการค้นหา Pain Point เจอว่าคุณภาพไม่ใช่ปัญหา ก็เป็นปัจจัยให้ทุกวันนี้เรามีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนจาก Apple และอุปกรณ์มากมายที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ IOS นั่นเอง
Pain point หรือ ปัญหาของลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรรู้เพื่อค้นหาคำตอบว่าปัญหาที่ลูกค้ากำลังประสบคืออะไร และอะไรทำให้เกิดปัญหา ผลลัพธ์ในการแก้ปัญหาควรออกมาอย่างไรหลังจากแก้ปัญหาแล้ว จะวางแนวทางแก้ไขปัญหาจาก Pain point ได้อย่างไร โดย Pain point หรือปัญหาของลูกค้าจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ จุดอ่อนของสินค้าที่มีอยู่แล้วทำให้เกิดปัญหาใหม่ หรือ แก้ปัญหาได้ไม่ดีพอ และจากปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขมาก่อน