ไข้หวัด

รู้ทัน! ไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่ โรคที่พร้อมกับช่วงฤดูหนาว

ไข้หวัด” ปัญหาสุขภาพที่ที่พบได้บ่อยในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงอากาศเย็นและชื้นในฤดูฝนและฤดูหนาว อาการของไข้หวัดยังเป็นปัญหาต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ แม้จะเป็นโรคที่สามารถหายได้เองเมื่อดูแลตนเองอย่างดี แต่ต้องรู้ทันอาการของโรคว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา หรือไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีลักษณะอาการและความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน

ไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่ แตกต่างกันอย่างไร

เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว โรคที่พบได้บ่อยในฤดูหนาวส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ แม้ลักษณะอาการของทั้ง 2 โรคจะคล้ายกัน แต่ไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่า ปัจจุบันยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นแทบทุกปี หากรู้ทันอาการของโรคก็สามารถป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสไข้หวัดในช่วงอากาศเย็นได้ ส่วนความแตกต่างของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มีดังนี้

ไข้หวัด สาเหตุ ลักษณะอาการ และวิธีดูแลรักษา

ไข้หวัด เป็นโรคติดต่อที่เกิดได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญเมื่อเป็นแล้วรักษาหายแล้วก็ยังกลับมาเป็นได้อีก เชื้อไวรัสจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อกันได้จากการไอ หายใจรดกัน หรือจากการสัมผัสตัวผู้ป่วย

สาเหตุของ ไข้หวัด

สาเหตุของโรคนี้ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจ เช่น จมูก คอ ไซนัส และกล่องเสียงโดยเชื้อที่ก่อให้เกิดไข้หวัดมักเป็นเชื้อไวรัสชนิดไม่รุนแรง และมีหลายสายพันธุ์ เมื่อป่วยเป็นหวัดแต่ละครั้งมักเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดเพียงชนิดเดียว และเมื่อหายแล้วร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้น หากกลับมาป่วยอีกครั้ง ก็มักจะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดชนิดใหม่ ๆ

อาการ และวิธีดูแลรักษา

ลักษณะอาการ เมื่อผู้ป่วยรับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายระยะ 1-3 วัน จะเริ่มแสดงอาการ เริ่มจาก ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไข้ตัวร้อน เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม หรือเจ็บคอเล็กน้อย เด็กมักมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ส่วนผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงอาการไอ จาม และคัดจมูก อาการส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและสามารถหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ สำหรับวิธีการรักษาไข้หวัดทำได้ด้วยการกินยา ควบคู่กับการนอนพักผ่อน และดื่มน้ำมาก ๆ

ภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัด

ไข้หวัด แม้จะเป็นโรคติดต่อที่สามารถหายได้เอง แต่เมื่อป่วยเป็นหวัด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลง หากขาดการดูแลรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจมีโอกาสแพร่เชื้อร่วมกับเชื้อไวรัสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ และอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ

ไข้หวัดใหญ่ สาเหตุ ลักษณะอาการ และวิธีดูแลรักษา

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่มีการระบาดและติดต่อกันได้เช่นเดียวกับไข้หวัด แต่ไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า และรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

สาเหตุของ ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อไวรัส อินฟลูเอนซา ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ผ่านทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ การรับของเหลวที่มีเชื้อไวรัสปะปนอยู่ผ่านการกิน การดื่ม หรือการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง เชื้อไวรัส อินฟลูเอนซา ที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่ม ไข้หวัดใหญ่ ตามฤดูกาล

เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบได้บ่อยในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนฤดูกาล และเชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ตลอดเวลา ทำให้คนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่และรักษาหายแล้ว สามารถกลับมาป่วยได้อีก อาการมักจะไม่รุนแรง เนื่องจากผู้ที่ป่วยที่รักษาหายแล้วร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง

กลุ่ม ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009

กลุ่มไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิด เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ซึ่งเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์จากไวรัสติวเดิม และไม่เคยพบมาก่อน ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันและติดเชื้อในวงกว้างปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบปะปนกับสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วไป

อาการ และวิธีดูแลรักษา ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ จะมีระยะฝักตัวประมาณ 1-4 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการ เช่น มีไข้สูงเฉียบพลัน 39-40 องศา ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจมีอาการคัดจมูก เจ็บคอ อาจมีอาการท้องเดิน อาเจียน และเป็นไข้ 2-4 วัน แล้วค่อยๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูกและแสบคอยังคงอยู่ โดยทั่วไปผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติได้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่

อาการแทรกซ้อนจะมีความรุนแรงมากกว่าไข้หวัด โดยเฉพาะในรายที่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง เช่นโรคปอดอักเสบก็อาจมีอาการรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ และสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากมีอาการปอดบวม หรือโรคหัวใจ อาการรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

  • มีการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก และ เหนื่อย หอบ
  • มีภาวะแทรกซ้อนที่ระบบประสาท หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • หลอดลมอักเสบและปอดบวม

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะคล้ายกับไข้หวัด แต่มีอาการที่รุนแรงมากกว่า และการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่หากดูแลตนเองเป็นอย่างดีตั้งแต่ระยะแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เองเช่นเดียวกับไข้หวัดทั่วไป และไขหวัดใหญ่ยังมีวัคซีนป้องกัน เพียงรู้ทันโรคก็จะช่วยให้ดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้เป็นอย่างดี

thechetter

นักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้