การแข่งขันในยุคนี้นั้น นอกจากเนื้อหาสาระที่ต้องปังแล้ว ยังต้องมีการสร้างคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายด้วย ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เราเจาะกลุ่มเป้าหมายนั้น ก็ต้องเริ่มจากกระบวนการคิดเป็นอันดับแรก เมื่อเริ่มต้นมาดี ก้าวต่อ ๆ ไปก็จะดีตามไปด้วยเช่นกัน ในส่วนของกระบวนการคิดที่สำคัญในช่วงเวลาแบบนี้ก็ต้องหนีไม่พ้น Design Thinking คือ การคิดเชิงออกแบบ ที่จะเป็นตัวช่วยในการวางแผน มองเห็นเป้าหมาย และวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ Design Thinking เทรนด์แนวคิดแบบใหม่ที่กำลังมาแรงในยุคนี้กัน
Design Thinking คืออะไร
Design Thinking หรือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ เป็นกระบวนการคิดที่ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างละเอียด เมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นก็สามารถนำเสนอแนวทางการแก้ไขได้เป็นอย่างดี แก้ได้ถูกจุด และเป็นการค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่อาจจะไม่เคยเจอมาก่อน ผ่าน 5 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ การทำความเข้าใจ การนิยาม ความสร้างสรรค์ การจำลอง และการทดสอบ หลายคนอาจจะคิดไม่ถึงว่า ‘เด็ก’ เป็นกลุ่มคนที่เหมาะกับ Design Thinking เนื่องจากเป็นวัยที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ หากลองให้นำเสนอไอเดียบางอย่าง อาจจะเห็นมุมมองที่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ นึกไม่ถึงเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าองค์กรของคุณจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานศิลปะหรือการออกแบบใด ๆ แต่การคิดเชิงออกแบบนั้นก็สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้องค์กรได้รู้ถึงปัญหาของผู้ใช้ และพยายามออกแบบวิธีการแก้ปัญหาให้ตอบโจทย์ผู้ใช้มากที่สุด จึงเป็นกระบวนการคิดที่สำคัญต่อทุกองค์กรและทุกรูปแบบธุรกิจนั่นเอง
5 ขั้นตอน Design Thinking Process
1. การทำความเข้าใจ (Empathize)
จุดเริ่มต้นของกระบวนการคิดเชิงออกแบบก็จะต้องเป็นการทำความเข้าใจปัญหาที่ผู้ใช้กำลังประสบพบเจออยู่ โดยสามารถทำได้โดยการสัมภาษณ์ ตอบแบบสอบถาม ทำแบบทดสอบ หรือการสังเกต เป็นต้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นความจริง และปราศจากอคติ จึงจำเป็นที่จะต้องทำซ้ำในส่วนนี้ อาจจะเป็นการตั้งคำถามว่าทำไมถึงรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาซ้ำ ๆ เพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการจริง ๆ คำตอบที่เราต้องได้ก็คือ ผู้ใช้เป็นใคร และ ผู้ใช้ต้องการอะไร
2. การนิยาม (Define)
เมื่อได้ข้อมูลจากขั้นตอนการทำความเข้าใจแล้ว ต่อจากนั้นก็จะต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาสรุป และหาว่าผู้ใช้เป็นใคร ต้องการอะไร ทำไมถึงมีปัญหา ต้องการแก้ไขเมื่อไหร่และที่ไหน เป็นต้น เมื่อสรุปออกมาได้แล้ว ก็จะทำให้มองเห็นภาพรวมมากขึ้น เป็นแนวทางในการคิดหาวิธีแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี
3. การสร้างสรรค์ (Ideate)
เมื่อมองเห็นถึงปัญหาที่ผู้ใช้ต้องการให้แก้ไขแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการระดมสมอง รีดเค้นไอเดียต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ออกมา ในขั้นตอนนี้นี้ เราจะทำการนำนำเสนอไอเดียที่คิดว่าดี ไม่ว่าจะเป็นวิธีแบบไหนก็ให้ลองเสนอมาก่อน ถ้ามีการคิดนอกกรอบก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ได้มากขึ้น จากนั้นนำมารวบรวมและคัดเลือกเอาวิธีการที่น่าสนใจนำไปแก้ไขปัญหา สิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนนี้ก็คือ ความหลากหลายทางความคิด อาจจะต้องใช้ความเห็นจากทั้งผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร และคนทั่วไป เพื่อให้ได้ไอเดียที่แตกต่างกันตามมุมมองของคนในแต่ละสถานะ
4. การจำลอง (Prototype)
เมื่อขั้นตอนการคัดสรรค์ไอเดียดี ๆ ได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะนำไปใช้จริง ก็ต้องมีการสร้างแบบจำลองวิธีการแก้ปัญหานั้นขึ้นมาก่อน เพื่อทดสอบว่าวิธีการดังกล่าวนั้นเหมาะสมกับปัญหาของผู้ใช้จริงหรือไม่ ตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้ตรงจุดจริงหรือ และยังเป็นการช่วยลดความผิดพลาดก่อนที่จะส่งถึงมือผู้ใช้อีกด้วย แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนลงแรงไปกับการสร้างแบบจำลองจนมากเกินไป ทำลองทำเพียงแค่เป็นตัวแทนไอเดียของคุณเท่านั้น และสามารถพัฒนามันในอนาคตได้
5. การทดสอบ (Test)
มาถึงขั้นตอนสุดท้ายที่จะตอบได้ว่าไอเดียที่เราเลือกกันมานั้นตอบโจทย์การแก้ปัญหาของผู้ใช้ได้จริงหรือไม่ ก็คือการลงมือทดสอบไอเดียนั่นเอง ขั้นตอนนี้แม้จะดูเป็นขั้นตอนสุดท้ายแล้ว แต่ความจริงแล้วเป็นขั้นตอนที่จะต้องมีการทดสอบซ้ำ ๆ เพื่อให้ได้ผลการทดสอบที่ดีที่สุด จะต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และแก้ไขวิธีการต่าง ๆ ไปด้วย จึงทำให้เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ถ้าหากว่าทดสอบจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เกิดพบว่าวิธีการที่เลือกใช้นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เราสามารถกลับไปเลือกใช้ไอเดียในข้อที่ 3 มาปรับใช้ใหม่ได้เช่นกัน
สรุป กระบวนการคิดเชิงออกแบบ
จากขั้นตอนต่าง ๆ นั้นจะเห็นได้ว่า กว่าที่จะสำเร็จออกมาเป็นวิธีการแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ มาอย่างมากมาย ถ้าไม่มีการวางแผนมาก่อนก็จะทำให้วิธีการแก้ปัญหานั้นซับซ้อนมากขึ้น หรืออาจจะหาวิธีที่เหมาะสมกับปัญหาไม่ได้เลยทีเดียว องค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะใหญ่ระดับประเทศ หรือเป็นเพียงองค์กรเล็ก ๆ ก็ควรที่จะให้ความสำคัญกับแนวคิด Design Thinking ให้มาก เพราะจะช่วยทำให้คุณได้เข้าใจปัญหาของผู้ใช้ได้มากขึ้น ลดความยุ่งยากในการทำงาน มีการร่วมมือกันในองค์กรมากขึ้น แถมยังสามารถนำวิธี การคิดเชิงออกแบบ นี้ไปประยุกต์ใช้ในงานทรัพยากรบุคคลได้อีกด้วย
อ้างอิง :
https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/190702-design-thinking/
ttps://thaiwinner.com/design-thinking/