ผู้คนจำนวนมากคงเคยได้ยินคำว่า “เอทานอล” กันอยู่พอสมควร แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว เอทานอล คือ อะไร มีคุณสมบัติและประโยชน์ในการนำมาใช้งานอย่างไรบ้าง จึงได้ถูกพูดถึงกันอยู่บ่อยครั้ง และที่สำคัญเรื่องเกี่ยวกับอันตรายต่าง ๆ ที่คนอยู่ใกล้ชิดต้องศึกษาให้ดี ลดความเสี่ยงต่อทั้งตนเอง คนรอบข้าง รวมถึงไม่เกิดปัญหาอื่นกับสิ่งแวดล้อมด้วย มาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสารชนิดนี้กันอย่างละเอียดได้เลย
เอทานอล คือ อะไร
เอทานอล คือ สารในกลุ่มแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่งที่เกิดจากการนำเอาพืชหลากชนิด เช่น มันสำปะหลัง ข้าว กากน้ำตาล อ้อย บีทรูด และข้าวฟ่างหวาน ที่อัดแน่นไปด้วยแป้ง (บางชนิดก็มีน้ำตาลในตัวปริมาณสูงอยู่แล้ว) มาเข้าสู่กระบวนการย่อยสลายต่อด้วยการหมักรวมกันจนแป้งในวัตถุดิบเหล่านั้นเปลี่ยนเป็นน้ำตาล และน้ำตาลที่ได้ก็เปลี่ยนรูปสู่แอลกอฮอล์อันเกิดจากเอนไซม์หรือกรดบางชนิดมีการช่วยย่อย กระทั่งเมื่อเข้าสู่การกลั่นก็กลายมาเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95%
จากนั้นจะมีใช้กระบวนการ molecular sieve separation โดยเอทานอลบริสุทธิ์ 95% ที่ได้มาจะผ่านเข้าสู่หอดูดซับซึ่งภายในบรรจุตัวดูดซับกลุ่มซีโอไลต์เอาไว้ ตัวดูดซับนี้จะปล่อยให้เฉพาะโมเลกุลของเอทานอลไหลผ่าน ส่วนโมเลกุลน้ำจะถูกดักเก็บไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ผลลัพธ์ที่ได้จะกลายเป็นค่าเอทานอล 99.5% บางครั้งคนทั่วไปมักเรียกว่าเอทิลแอลกอฮอล์ มีสูตรทางเคมีคือ C2H5OH ส่วนใครสงสัยว่า เอทานอล นำไฟฟ้าไหม? ขอตอบว่านี่เป็นสารที่ไม่นำไฟฟ้า
เมื่อทำการแบ่งประเภทของเอทานอลให้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ จะแยกออกได้เป็น 2 กลุ่ม ซึ่งลักษณะการใช้งานย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย โดยจะขออธิบายเบื้องต้น ดังนี้
- Anhydrous Ethanol เอทานอลชนิดแห้ง ผ่านกระบวนการ molecular sieve separation เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์มากกว่า 99% ผสมกับเชื้อเพลิงสำหรับใช้งานกับรถยนต์ได้ และยังแยกย่อยได้ 2 กลุ่ม ได้แก่
- Denatured anhydrous ethanol มีการเติมสารแปลงสภาพเข้าไป เช่น สีฟ้า สีชมพู เพื่อให้รู้ว่าทานไม่ได้
- Indentured anhydrous Ethanol เอทานอลบริสุทธิ์ไม่มีสารอื่นใดเจือปน ใช้ทานหรือส่วนผสมของอาหาร เครื่องดื่มบางชนิดได้
- Hydrous Ethanol เอทานอลชนิดเปียก ยังไม่ผ่านกระบวนการ molecular sieve separation ภายในสารจึงยังคงมีน้ำผสมอยู่ไม่ต่ำกว่า 5% หรือ 0.5% สามารถใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงแอลกอฮอล์ได้
เอทานอล คุณสมบัติเป็นอย่างไรบ้าง
เมื่อทำความรู้จักกันเบื้องต้นไปแล้วว่า เอทานอล คือ สารแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่ง คราวนี้จะพามาศึกษาถึง คุณสมบัติที่น่าสนใจของสารดังกล่าว
โดยเอทานอล คุณสมบัติสำคัญด้วยการเป็นแอลกอฮอล์จึงมีลักษณะเป็นของเหลว ไม่มีสี สามารถจุดไฟเพื่อติดระเหยง่ายมาก ลอยน้ำได้ ละลายน้ำ ละลายไขมันได้ ถือเป็นกลุ่มเชื้อเพลิงสะอาดที่ผ่านการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ ที่สำคัญเมื่อวัตถุดิบหลักในการผลิตมาจากพืชจึงช่วยเรื่องของการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่บนชั้นบรรยากาศ ลดมลพิษที่อาจเกิดขึ้น ความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมน้อยลง และยังช่วยลดภาวะเรือนกระจกอีกด้วย
เอทานอล ใช้ทำอะไรได้บ้าง
หลัก ๆ แล้วเมื่อมีการผลิตสารชนิดนี้ออกมาตามขั้นตอนต่าง ๆ ตามที่ได้อธิบายเอาไว้เบื้องต้น หลังจากได้เอทานอล 99.5% ซึ่งมีค่าออกเทนสูงมักนิยมนำไปผสมกับเบนซินและเกิดเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ หรือในกรณีที่นำไปผสมกับน้ำมันดีเซลก็เปลี่ยนชื่อเป็นน้ำมันดีโซฮอล์สำหรับใช้งานเป็นเชื้อเพลิง
ไม่ใช่แค่การผสมเท่านั้น แต่เอทานอลยังสามารถถูกใช้ในฐานะของพลังงานบริสุทธิ์ ไม่ต้องมีการผสมกับสารหรือน้ำมันชนิดใดเลยก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้หากสรุปว่าเอทานอล ใช้ทำอะไรได้บ้าง ก็แบ่งออกเป็น 3 ข้อสำคัญ ดังนี้
- ใช้สำหรับการเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์โดยตรง อย่างไรก็ตามต้องเป็นรถรุ่นใหม่ที่ตัวเครื่องยนต์ ท่อยาง หรือวัสดุประเภทพลาสติกที่อยู่ในกระบวนการเผาไหม้ต้องผ่านการออกแบบมาอย่างดี เพื่อให้ทนต่อการกัดกร่อนของสารชนิดนี้ซึ่งมีระดับการกัดกร่อนสูงมาก
- ใช้สำหรับการผสมในน้ำมันเบนซินและดีเซลตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
- ใช้สำหรับการเพิ่มค่าออกเทนให้กับน้ำมันเบนซิน สาเหตุสำคัญมาจากเอทานอลถือเป็นสารที่มีค่าออกเทนสูงมาก เมื่อนำมาผสมแล้วย่อมช่วยให้ค่าออกเทนของเบนซินสูงตามไปด้วย ประหยัดค่าใช้จ่ายโดยไม่ต้องใช้น้ำมันเบนซินทั้งหมด
นอกจากการใช้ในด้านพลังงานแล้ว เอทานอล หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ หากอยู่ในรูปของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% ขึ้นไป จะถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ ด้าน เช่น การทำความสะอาดร่างกาย ฆ่าเชื้อโรคโดยไม่ส่งผลกระทบใดหากใช้งานอย่างถูกหลักทั้งการถู เช็ด หรือฉีด การทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ มีการนำไปใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนประกอบของเครื่องสำอาง
อย่างไรก็ตามในส่วนของเอทานอลหรือเอทิลแอลกอฮอล์ จากที่ได้อธิบายว่าใช้ทำอะไรได้บ้างนั้น ยังแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบไปด้วย
- Food Grade หรือ Pharma Grade ระดับแอลกอฮอล์สูงกว่า 95% สามารถทานหรือนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารได้ ไม่มีสารอื่นใดเจือปนจนทำให้เกิดอันตราย
- เอทิลแอลกอฮอล์ 95% เป็นเกรดระดับรองลงมานิยมใช้ในกระบวนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ผลิตเครื่องสำอาง, สเปรย์ฉีดพ่น ฯลฯ
- กลุ่ม Isopropyl Alcohol หรือ IPA พวกนี้จะเป็นกลุ่มที่ถูกนำมาใช้งานภายนอกร่างกาย เช่น การล้างแผล แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ทำความสะอาดอุปกรณ์การแพทย์ กลิ่นฉุนแรง บางชนิดอาจมีการเพิ่มสารแปลงสีลงไปสำหรับแยกเกรดกับกลุ่ม Food Grade เช่น การใส่สีฟ้า สีชมพู เป็นต้น
เอทานอลกับแอลกอฮอล์ ต่างกันอย่างไร
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าในเมื่อเอทานอลก็คือแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่ง แล้วแบบนี้ เอทานอลกับแอลกอฮอล์ ต่างกันอย่างไร จึงขออธิบายให้เข้าใจเพิ่มเติม โดยแบ่งออกเป็น เอทานอล (เอทิลแอลกอฮอล์) และ แอลกอฮอล์ (เมทิลแอลกอฮอล์) ดังนี้
ลักษณะทางกายภาพ
ทั้ง เอทานอล (เอทิลแอลกอฮอล์) และ แอลกอฮอล์ (เมทิลแอลกอฮอล์) มีความคล้ายคลึงกันนั่นคือ ของเหลวที่ไม่มีสี ติดไฟง่าย ระเหยเร็ว ละลายน้ำและละลายไขมันได้
การนำไปใช้งาน
เอทานอล (เอทิลแอลกอฮอล์) – อธิบายไว้ชัดเจนถึงการใช้งานทั้งรูปแบบของทำความสะอาดร่างกาย, การใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบเชื้อเพลิง
แอลกอฮอล์ (เมทิลแอลกอฮอล์) – นิยมใช้เพื่อเป็นตัวทำละลายของบรรดาอุตสาหกรรมหลากชนิด เช่น งานในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ทำละลายในสีทาไม้, ยาลอกสี, สีเคลือบเงา, น้ำมันเคลือบเงา, ผสมกับทินเนอร์ หรือใช้ในการเป็นเชื้อเพลิงจากธรรมชาติ
การระคายเคือง
เอทานอล (เอทิลแอลกอฮอล์) – หากสัมผัสกับผิวหนังมักทำให้เกิดความแห้งตึง แต่ไม่เกิดความระคายเคืองใด ๆ
แอลกอฮอล์ (เมทิลแอลกอฮอล์) – หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก ๆ มักส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ สร้างความระคายเคืองกับเยื่อบุในดวงตา ส่งผลให้เกิดการอักเสบ
เอทานอล ประโยชน์ที่สรุปมาให้
เมื่อรู้กันแล้วว่า เอทานอล เป็นสารอะไร คุณสมบัติ และการใช้งานเป็นแบบไหน คราวนี้จึงอยากสรุปในส่วนของประโยชน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้งานมาให้แบบครบครัน
1. ใช้สำหรับการฆ่าเชื้อโรค
จะเห็นว่าด้วยความบริสุทธิ์ของ เอทานอล คือ เหตุผลสำคัญที่ช่วยให้สามารถฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม จนนำไปสู่การใช้เพื่อล้างบาดแผล ทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ งานวิจัยในห้องแล็บต่าง ๆ แต่ทั้งนี้เพื่อแยกออกจากการเป็นส่วนผสมที่ทานได้ จึงมีการใส่สีเพิ่มเติมไว้ด้วยนั่นเอง
2. ใช้เพื่อการทำละลาย
ประโยชน์ต่อมาของสารชนิดนี้คือใช้เป็นตัวทำละลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำละลายกับน้ำ หรือไขมัน แถมยังมีราคาถูก ช่วยประหยัดต้นทุน และไม่เป็นอันตรายกับตัวผู้ใช้งานอีกด้วย
3. ใช้สำหรับการผสมเชื้อเพลง
อีกประโยชน์สำคัญของเอทานอลที่ถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลาย นั่นคือ เป็นสารสำหรับผสมเชื้อเพลิงในการเพิ่มค่าออกเทน ซึ่งตอนนี้ในเมืองไทยของเราทางด้านกระทรวงพลังงานได้มีการอนุญาตให้ใช้สารดังกล่าวเพื่อผลิตแก๊สโซฮอล์ เชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนรถยนต์ได้ 3 กลุ่ม ประกอบไปด้วย
3.1 กลุ่มแก๊สโซฮอล์ E10
- แก๊สโซฮอล์ 91 (ค่าออกเทน 91)
- แก๊สโซฮอล์ 95 จะแบ่งส่วนผสมของเอทานอลไม่เกิน 10% แต่ไม่ต่ำกว่า 9% เพื่อนำมาเพิ่มค่าออกเทนให้กับน้ำมันเบนซินพื้นฐานเดิม 90%
ซึ่งแก๊สโซฮอล์ทั้ง 2 ประเภทนี้ใช้งานได้กับรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์รองรับน้ำมันเบนซิน 91 และเบนซิน 95 ได้เลยโดยไม่ต้องมีการดัดแปลงเครื่องยนต์ใด ๆ ทั้งสิ้น
3.2 กลุ่มแก๊สโซฮอล์ E20
ส่วนผสมเอทานอลของเชื้อเพลิงประเภทนี้ไม่เกิน 20% แต่ไม่ต่ำกว่า 19% เพื่อนำมาเพิ่มค่าออกเทนให้กับน้ำมันเบนซินพื้นฐานเดิม 80%
3.3 กลุ่มแก๊สโซฮอล์ E85
ส่วนผสมเอทานอลของเชื้อเพลิงประเภทนี้อยู่ที่ 85% กับน้ำมันเบนซินพื้นฐานเดิม 15% ปริมาตรของเอทานอลต้องไม่ต่ำกว่า 75%
4. ใช้เพื่อการเป็นสารตั้งต้น
ข้อสุดท้ายที่เกี่ยวกับประโยชน์ในการใช้งานสารชนิดนี้คือ จะใช้เพื่อเป็นสารตั้งต้นสำหรับทำปฏิกิริยาเคมีหลากประเภทมาก ๆ เช่น ใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิตน้ำส้มสายชู เป็นต้น
เอทานอล อันตรายและข้อควรระวัง
อีกสิ่งที่ควรศึกษาเอาไว้ให้ดีสำหรับคนที่ต้องอยู่กับสารเอทานอล คือ เรื่องความอันตรายกับตัวบุคคล สถานที่ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เสมอหากมีความประมาท ปกติแล้วเอทานอล อันตรายเมื่อนำไปเป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิงคือการลามไฟ และการติดไฟที่ง่ายมาก หากเจอกับความร้อนหรือแม้แค่สะเก็ดไฟก็อาจทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นมาได้
แต่สำหรับอันตรายและข้อควรระวังอื่น ๆ ยังแบ่งออกได้หลายด้าน ดังนี้
1. อันตรายแบบเฉียบพลัน
เอทานอลจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับระบบประสาทส่วนกลาง คนที่เกิดอาการแบบเฉียบพลันจึงมักรู้สึกง่วงซึม ทรงตัวไม่อยู่ กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวน้อยลงกว่าปกติ หรือกล้ามเนื้อที่เรียบเกิดการคลายตัว
2. อันตรายแบบเรื้อรัง
ส่วนใหญ่แล้วอันตรายตรงนี้มักเกิดกับผู้ที่ดื่มสุราซึ่งมีส่วนผสมของเอทิลแอลกอฮอล์อยู่ประจำจนสารดังกล่าวเข้าไปทำลายสุขภาพ
- ส่งผลกับระบบทางเดินอาหาร เลือดออกในกระเพาะอาหาร ทำลายเนื้อเยื่อบริเวณตับ จนป่วยด้วยโรคตับแข็ง
- ส่งผลกับระบบประสาท ความจำเลอะเลือน ความจำเสื่อม ใจสั่น ตกใจง่าย หรือบางรายมีอาการทางจิตเวช
- เกิดภาวะโลหิตจาง สำหรับบางรายที่ดื่มมานานมาก ๆ
- การทำงานของหัวใจผิดปกติ ระดับความดันโลหิตสูงกว่าปกติ
- เสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็ง พิษสุราเรื้อรัง และเส้นเลือดในสมองแตก ฯลฯ
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่น่าสนใจของเอทานอล หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ จะเห็นว่าปัจจุบันถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เยอะมาก ซึ่งหลายคนอาจไม่คิดด้วยซ้ำถึงสิ่งที่ตนเองใช้อยู่ในชีวิตประจำวันจะมีส่วนผสมของสารชนิดนี้ แต่ถ้าหากปฏิบัติไม่ถูกวิธีก็อาจนำผลเสียตามมาด้วยเช่นกัน